Quantcast
Channel: all things strategised
Viewing all articles
Browse latest Browse all 16

เก็บเงินไม่อยู่ทำยังไง…กลยุทธ์การเงินส่วนบุคคล ตอนที่ 3

$
0
0

เคยเห็นคนติดบุหรี่อยากเลิกบุหรี่ไหม คนไม่เคยสูบคงคิดว่าก็อย่าไปสูบมันสักระยะ เดี๋ยวก็หายติดบุหรี่ไปเอง แต่ขอถามว่าคนติดบุหรี่เขาหยุดสูบได้ง่ายๆไหม ถ้าทำได้ง่ายๆมันคงไม่เรียกว่า “ติด” บุหรี่นะครับ

แล้วทีนี้ถ้าอยากเลิกแล้วมันเลิกเองไม่ได้ต้องทำยังไง คุณหมอสมัยใหม่ก็เลยมีวิธีการช่วยเหลือมากมาย ทั้งการแปะแผ่นนิโคตินบนผิวหนัง การทานยาทดแทนบุหรี่แล้วค่อยๆลดยา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายลงครับ

ทีนี้มาพูดถึงการเก็บออมเงิน บางคนบอกว่าอยากเก็บเงินให้ได้เป็นกอบเป็นกำแต่ทำยังไงดีมันควบคุมตัวเองไม่ได้เลย กลยุทธ์การเงินส่วนบุคคลตอนที่ 3 นี้มีคำแนะนำมาให้ครับ

ขั้นแรก “แบ่งเงิน” ก่อนอื่นกำหนดขึ้นมาว่าค่าใช้จ่ายประจำที่รู้จำนวนแน่นอน เช่น ค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ นั้นต้องจ่ายเดือนละเท่าไร จะได้กันออกมาไว้จ่าย จากนั้นดูว่าชีวิตประจำวันจะใช้เงินเท่าไร และสุดท้ายก็กำหนดเงินเก็บว่าจะเป็นเท่าไร ทั้งสามรายการนี้ต้องแยกบัญชีจากันโดยเด็ดขาด อย่ารวมกันแล้วมานั่งจำว่าเป็นก้อนไหนเท่าไร โดยทั่วไปเงินเก็บควรจะอยู่ 10-30% ของรายได้ ถ้าใครรู้สึกว่าเก็บได้น้อยกว่า 10% นั่นแปลว่าใช้จ่ายเกินตัวครับ ไปลดระดับความหรูหราของชีวิตลงซะ

ขั้นที่สอง “อาศัยมือที่มองไม่เห็น” จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาหลายๆคนที่มีปัญหาวินัยทางการเงิน ผมพบว่าการให้ท่านทั้งหลายลงมือนำเงินออกจากบัญชีเงินเดือนมาเข้าบัญชีค่าใช้จ่ายประจำและออมเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความเสี่ยงที่จะสูญหายระหว่างทางจากกิเลสที่รุมเร้า เราจึงจำเป็นต้องอาศัย “มือที่มองไม่เห็น” หรือการตัดบัญชีอัตโนมัตินั่นเอง ในปัจจุบันทุกธนาคารมีบริการขายกองทุนรวม และทุกกองทุนรวมมีบริการตัดบัญชีอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนเป็นรายเดือน ดังนั้น ผมขอแนะนำให้ไปเลือกกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งเป็นประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด มาจำนวน 2 กองทุน โดยกองหนึ่งตั้งตัดอัตโนมัติเป็นค่าใช้จ่ายประจำ อีกกองหนึ่งตัดอัตโนมัติเงินเก็บออม โดยกำหนดวันตัดเป็นช่วงที่เงินเดือนออก ในขั้นนี้ เราสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย ดังนั้น ไม่นานหลังเงินเดือนเข้ามาในบัญชี มันก็จะถูกตัดเหลือแค่เงินจำนวนที่กันไว้ใช้ประจำวันเท่านั้นครับ
ขั้นที่สองครึ่ง “แบ่งเงินใส่ซอง” จริงๆขั้นนี้ไม่ค่อยจำเป็นสำหรับคนหลายคน แต่ถ้าใครที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จริงๆว่าจะบริหารเงินในบัญชีให้อยู่ตลอดรอดจบเดือนไปได้ ก็ขอให้ถอนเงินสดออกมา หารจำนวนวันแล้วใส่ซองไว้หยิบออกไปเป็นวันๆครับ

ขั้นที่สาม “นำเงินเก็บไปใช้” สำหรับเงินค่าใช้จ่ายประจำ ก็ค่อยขายกองทุนรวมดังกล่าวออกมาเพื่อจ่าย ส่วนเงินออมก็สะสมให้เป็นก้อนแล้วนำมาบริหารการลงทุนต่อไป ซึ่งจะยังไม่กล่าวถึงในตอนนี้ครับ
ถ้าใครมีใจอยากจะเก็บออมให้ได้จริงจัง ผมคิดว่าวิธีการเหล่านี้น่าจะช่วยได้มาก และหวังว่าท่านทั้งหลายจะเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำจนต้องมาหาอ่านการจัดการเงินลงทุนต่อไปนะครับ

อย่าลืมนะครับ สามขั้นตอนเพื่อชีวิตที่เก็บเงินอยู่…แบ่งเงิน มือที่มองไม่เห็น นำเงินเก็บไปใช้เท่าที่แบ่งไว้



Viewing all articles
Browse latest Browse all 16

Latest Images

Trending Articles





Latest Images